week6

              สัปดาห์ที่ 6  พี่ๆ ชั้นป.6 ได้เริ่มเรียนเรื่อง สี่เหลี่ยม ซึ่งนักเรียนเคยได้เรียนรู้มาบ้างในชั้นป.5 ทำให้สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้น ครูเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนได้ทบทวนชนิดของรูป สี่เหลี่ยมที่นักเรียนรู้จัก เช่น สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สี่เหลี่ยมด้านขนาน สี่เหลี่ยมคางหมู สี่เหลี่ยมรูปว่าว และสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า หลังจากนั้นครูได้ให้นักเรียนยกตัวอย่างสี่เหลี่ยมชนิดต่างๆ ที่พบในชีวิตประจำวันหรือมีส่วนที่คล้าย เช่น สี่เหลี่ยมผืนผ้า คล้ายกับ โต๊ะ ประตู หน้าต่าง หน้าจอคอมพิวเตอร์ สมุด หนังสือ ฯลฯ  สี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายกับ หน้าของลูกเต๋า หน้าจอTV กล่อง ฯลฯ
              หลังจากนั้นครูได้ให้นักเรียนสังเกตความเหมือนและความแตกต่างของสี่เหลี่ยมแต่ละชนิด เช่น รูปร่าง มุม เส้นขนาน ในมิติต่างๆ ซึ่งนักเรียนสามารถสังเกตเห็นความสัมพันธ์ของสี่เหลี่ยมแต่ละชนิดได้อย่างน่าสนใจ เช่น
พี่ยุ้ย : สังเกตว่าสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายกับสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพราะเป็นรูปที่ทุกมุมเป็นมุมฉากเหมือนกัน
พี่ปุณ : สังเกตได้ว่าสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีส่วนที่คล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเพราะ สี่เหลี่ยมจัตุรัสมีความยาวของด้านทั้งสี่เท่ากัน สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนก็มีความยาวของด้านทั้งสี่เท่ากันเช่นกัน
พี่เพชร : สังเกตว่าสี่เหลี่ยมผืนผ้าหล้ายกับสี่เหลี่ยมด้านขนานตรงที่สี่เหลี่ยมทั้งสองแบบมีเส้นขนานกันสองเส้น
พี่อังอัง : สังเกตว่าสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และสี่เหลี่ยมรูปว่าวมีส่วนที่เหมือนกันคือ สามารถพับทับกันได้สนิท
พี่บอล : สังเกตว่าสี่เหลี่ยมผืนผ้าและสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีผลรวมของมุมเท่ากันคือ 360 องศา
ครูจึงตั้งคำถามเสริมว่านักเรียนคิดว่าสี่เหลี่ยมรูปอื่นๆจะมีผลรวมของมุมเท่ากับ 360 องศาหรือไม่ คิดเห็นอย่างไร นักเรียนหลายคนไม่ค่อยแน่ใจ ดังนั้นครูจึงให้นักเรียนได้สร้างรูปสี่เหลี่ยมชนิดต่างๆ และทำการวัดมุมเพื่อพิสูจน์ ซึ่งต่างได้ข้อสรุปร่วมกันว่าสี่เหลี่ยมทุกชนิดมีผลรวมของมุมเท่ากับ 360 องศา
              วันต่อมาครูได้ให้นักเรียนหาความยาวของเส้นรอบรูปสี่เหลี่ยมแต่ละชนิด และหาพื้นที่ของสี่เหลี่ยมแต่ละชนิดโดยได้ให้นักเรียนตั้งข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างการหาความยาวรอบรูปและพื้นที่ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ซึ่งนักเรียนได้ข้อสังเกตร่วมกันคือ การหาความยาวรอบรูปสี่เหลี่ยมสามารถนำความยาวแต่ละด้านมาบวกกันได้เลย และมีหน่วยเป็นหน่วยความยาวเดิม เช่น เซนติเมตร นิ้ว ฟุต เมตร กิโลเมตร ส่วนการหาพื้นที่ เป็นความสัมพันธ์ของตัวเลขแบบ สองมิติ มีหน่วยตาราง และตามด้วยหน่วยความยาวนั้น เช่น จาก เซนติเมตร นิ้ว ฟุต เมตร กิโลเมตร เป็น ตารางเซนติเมตร  ตารางนิ้ว  ตารางฟุต  ตารางเมตร  ตารางกิโลเมตร  และการหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะคล้ายกับสี่เหลี่ยมผืนผ้า การหาพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนจะคล้ายกับสี่เหลี่ยมด้านขนานดังรูป







ซึ่งนักเรียนสามารถแยกความเหมือนและความแตกต่างของการหาพื้นที่และความยาวรอบรูปได้ และครูได้ให้นักเรียนหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมแต่ละแบบในแบบที่ง่ายๆ และจะยากขึ้นในสัปดาห์ต่อไปครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น